History | ประวัติ
ประวัติวัดบางแคน้อย
วัดบางแคน้อยตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง คุณหญิงจุ้ย (น้อย) วงศาโรจน์ เป็นผู้สร้างเมือ พ.ศ.2441 เดิมอุโบสถของวัดสร้างบนแพไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นโพธิ์ ต่อมาพระอธิการรอด เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ได้สร้างอุโบสถบนพื้นดิน ในปี พ.ศ.2418 ต่อมาอุโบสถหลังเดิมได้ชำรุดทรุดโทรม พระอธิการเขียว เจ้าอาวาสองค์ที่ 6 ได้สร้างอุโบสถขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.2492 จนกระทั่งปี พ.ศ.2540 อุโบสถหลังเดิมเกิดชำรุดอีก เนื่องจากขาดแคลนวัสดุและคุณภาพเพราะตอนสร้างอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระครูสมุทรนันทคุณ (แพร) จึงได้ดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น
พระครูสมุทรนันทคุณ (แพร)
หลวงพ่อแพร นนฺโท (พระครูสมุทรนันทคุณ) เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ชื่อเดิมแพรอินทมาตย์ เกิดวันพุธ ขึ้น 8 ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2467 บิดานายทาบ มารดานางขวด เกิดที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เป็นบุตรคนที่ 5 ในบรรดาพี่น้อง 7 คน
มาอยู่วัดบางแคน้อยกับหลวงพ่อเขียว ฐิติสฺสโร ซึ่งเป็นน้องชายของพ่อ ในปี พ.ศ. 2475 มาอยู่เมื่ออายุได้8 ขวบ เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดปากน้ำ จบชั้นประถมปีที่ 4 บวชที่วัดบางแคน้อยเมื่อวันที่1 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 สอบได้นักธรรมโท ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางแคน้อยเมื่อพ.ศ. 2506 อายุ 39 ปี มรณภาพวันที่ 24 เมษายน 2553 อายุ 88 ปี
ปัจจุบันพระครูสมุห์พัฒนา ฐานโชติโก เป็นเจ้าอาวาส อายุ 41 ปี พรรษา 21 นธ.เอก เพิ่งรับตำแหน่งได้ 2 ปีเศษ อ่านต่อ
Highlights | จุดเด่น
*คลิกดูรูปขนาดใหญ่
อุโบสถ
อุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ภายในจะเป็นไม้สักแกะสลัก เป็นการแกะสลักที่น่าสนใจและหาดูได้ยาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณ เวลาและฝีมือการแกะสลักที่ปราณีตบรรจง โดยใช้ช่างที่มีความชำนาญทั้งหมด มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้
-
ไม้มะค่าโมงซึ่งใช้เป็นแท่นรองพระประธานมีขนาดใหญ่มาก คือกว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 3 เมตร หนา 4 นิ้ว
-
ชุกชีพระประธานเป็นไม้แกะสลักในทรงจอมแห
-
พื้นอุโบสถปูด้วยไม้ตะเคียนทอง หนา 2 นิ้ว กว้าง 40-44 นิ้ว
-
ฝาผนังพื้นเป็นไม้แกะสลัก หนา 3 นิ้ว แกะสลักเป็นรูปคน สัตว์ ต้นไม้ และแกะเสริม รวมหนาถึง 6 นิ้ว
-
ฝาผนังด้านตรงข้ามพระประธานเป็นไม้แกะสลักรูปปางชนะมาร
-
ฝาผนังด้านซ้าย ขวา ของพระประธานเป็นไม้แกะสลักรูปพระเจ้าสิบชาติหรือทศชาติชาดก 10 ชาติ
-
ฝาผนังด้านหลังพระประธานเป็นไม้แกะสลัก การประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน
-
ฝาผนังใต้ธรณีหน้าต่าง 2 ข้าง แกะสลักฝังด้วยไม้โมกมันรูปพระเวสสันดร จั่วด้านหน้าและหลังเป็นไม้แกะสลัก ด้านข้างทั้งสองเป็นคูหาหลงรักปิดทอง คันทวยเป็นไม้ลงรักปิดทอ
จากรายละเอียดดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นอุโบสถที่มีความสวยงาม มีคุณค่าทางด้านศิลปะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่างแกะสลัก เป็นช่างฝีมือจากเพชรบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านแกะสลักไม้เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงถือว่าอุโบสถวัดบางแคน้อยเป็นศิลปะสถานที่มีคุณค่ามาก และถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วย
พระพุทธสมุทร ศรีพิชัยวิสุทธิมุนี
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธานในอุโบสถวัดบางแคน้อย คาถาบูชาพระพุทธสมุทร ศรีพิชัยวิสุทธิมุนี คือบวดสวทถวายพรพระ(พาหุงฯ) ด้านหน้าพระอุโบสถประดิษฐานพระพระพุทธสมุทร ศรีพิชัยวิสุทธิศาสดา (หลวงพ่อโชคดี) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ห้ามปิดทององค์พระทั้งสอง เบื้องหลังพระพุทธสมุทร ศรีพิชัยวิสุทธิมุนีพระประธานในอุโบสถ มีภาพไม้แกะสลักที่สวยงามเรื่องการประสูติและปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เบื้องซ้ายและเบื้องขวาประดิษฐานพระรัตนธาตุในบุษบกขนาดเล็กที่สร้างไว้อย่างสวยงาม
พระบรมสารีริกธาตุวัดบางแคน้อย
บุษบงแท่นวัชรอาสนะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมพระอสีติมหาสาวกทั้ง 80 พระองค์ เรียงรายรอบเป็นวงกลม และรูปหล่อเหมือนท้าวมหาราชทั้ง 4 ซึ่งดูแลสวรรค์ชั้นที่ 1 (จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ) คือ
1. ท้าวธตรัฏฐะ อยู่ทางทิศตะวันออกหันหน้าไปทางแม่น้ำแม่กลองพอดี เป็นผู้ปกครองคันธัพพเทวดาทั้งหมด
2. ท้าววิรุฬหกะ อยู่ทางทิศใต้ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑ์เทวดาทั้งหมด
3. ท้าววิรูปักษ์ อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นผู้ปกครองนาคะเทวดาทั้งหมด
4. ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ อยู่ทางทิศเหนือ เป็นผู้ปกครองยักขเทวดาทั้งหมด
ท้าวมหาราช ทั้ง ๔ องค์นี้ เป็นผู้รักษาโลกมนุษย์ด้วย จึงชื่อว่า ท้าวจตุโลกบาล หรือ ท้าวโลกบาล ๔ พระเจ้าพิมพิสารเองแม้จะเป็นพระโสดาบัน แต่ก็พอใจสวรรค์ชั้นนี้ได้เกิดเป็นบริวารของ ท้าวเวสสุวรรณมหาราช ท้าวมหาราชทั้ง 4 องค์นี้เป็นผู้ดูแลพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถูกจัดเรียงตกแต่งไว้อย่างงดงาม ทางวัดสร้างขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ
กุฏิทรงไทย อายุมากกว่า 130 ปี
เป็นกุฏิไม้เก่าแก่ยังคงรูปแบบการสร้างไว้ได้อย่างดี มีการบูรณะดูแลจนมีสภาพที่ดีอย่างที่เห็นในปัจจุบัน บนกุฎมีหลายสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ทรงกษัตริย์ หรือที่เรียกกันว่าพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพุทธรูปแกะสลักจากหินพระธาตุ หลวงพ่อมงคลรัตนมุนี หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ทวด หุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เปิดให้เข้าชมได้ โดยต้องแต่งกายสุภาพ ห้ามนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดขึ้นไป บนกุฏิมีพระสงฆ์อยู่ต้องใช้ความสงบด้วยในระหว่างเยี่ยมชม
พระพุทธเจ้า 28 พระองค์
เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องขนาดเล็ก เท่ากันทั้งหมด ประดิษฐานรอบๆ ฐานบนยอดสุดทำเป็นพระธาตุขนาดเล็ก พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ คือพระพุทธเจ้าที่ได้ประสูติในชาติภพต่างๆ รวมแล้ว 28 พระองค์ มีพระนามเขียนไว้ที่ฐานของแต่ละองค์ได้แก่
พระพุทธตัณหังกร พระพุทธเมธังกร พระพุทธสรณังกร พระพุทธทีปังกร พระพุทธโกณฑัญญะ พระพุทธสุมังคละ พระพุทธสุมนะ พระพุทธเรวตะ พระพุทธโสภิตะ
พระพุทธอโน มทัสสี พระพุทธปทุมะ พระพุทธนารทะ
พระพุทธปทุมุตตระ พระพุทธสุเมธะ พระพุทธสุชาตะ
พระพุทธปิยทัสสี พระพุทธอัตถทัสสี พระพุทธธรรมทัสสี
พระพุทธสิทธัตถะ พระพุทธติสสะ พระพุทธปุสสะ
พระพุทธวิปัสสี พระพุทธสิขี พระพุทธเวสสภู
พระพุทธกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมนะ พระพุทธกัสสปะ
และพระพุทธโคตมะซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
พระพุทธรูปแกะสลักจากหินพระธาตุ
พระพุทธรูปทั้งสี่องค์ ประกอบด้วยพระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรเหมือนหลวงพ่อบ้านแหลม พระสังกัจจายน์ และพระสิวลี
ซึ่งประชาชนจะนิยมมาขอพร บนบาน เเละจะเเก้สินบนด้วย "กล้วยหอมกับบัวลอยไข่หวาน"
กุฏิหลวงพ่อแพร
เป็นกุฏิที่สร้างเสร็จหลังจากหลวงพ่อแพร (พระครูสมุทร นันทคุณ) มรณภาพ ตามคำสั่งของท่าน เป็นที่ตั้งโลงบรรจุสังขารของท่าน ท่านสั่งไว้ก่อนสิ้นลม ดังนี้
1. สวดศพหลวงปู่ 3 คืน
2. เอาศพหลวงปู่ไว้ที่กุฏิใหม่
3. ขอไม่ให้ทุกคนที่เยี่ยมหลวงปู่ร้องไห้ (หลวงปู่อยากไปแบบสบายใจ)
4. ถึงหลวงปู่จะไม่อยู่ก็ขอให้ทำกุฏิให้เสร็จ (เมื่อเสร็จแล้วบอกท่านด้วย)
5. ขอให้พี่สุโขอยู่ช่วยงานที่วัดไปจนกว่าจะไม่ไหวแทนหลวงปู่
6. ให้พระทำวัตรตามเวลา
7. คณะกรรมการที่ไม่ชอบพี่โข ก็ให้ลดทิฐิหันมาช่วยทำให้วัดเจริญ
8. ให้แต่งตั้งพี่โขเป็นไวยาวัจกรของวัด
9. เงินที่หาได้ทั้งหมดและเงินส่วนตัวทั้งหมดให้สร้างกุฏิ
10. ให้บวชอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย
***เป็นบันทึกจากคำบอกเล่าของสามเณร ภูวภัท ศิลาอุดมเดช ผู้อยู่ปฏิบัติหลวงปู่จนสิ้นลม